ศูนย์บริหารกลยุทธ และพัฒนาบุคลากร

Competency & Skill

สมรรถนะที่มุ่งหวังของบุคลากร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะแพทยศาสตร์ได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารคณะฯ ในวาระ 4 ปี (พ.ศ.2564-2568) โดยมีแนวคิดที่จะบริหารงานคณะแพทยศาสตร์ในวาระ 4 ปีนี้ และภายหน้าให้ประสบความสำเร็จอย่างมีคุณภาพตามวิสัยทัศน์ “Trustworthy Medical School” และพันธกิจ MEDCMU ที่ตั้งไว้ งานบริหารงานบุคคลจึง มีภารกิจในการพัฒนาบุคลากรของคณะฯ ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และตอบสนองต่อวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของคณะฯ ในเรื่องของ Modernized Workforce (พัฒนาทักษะบุคลากรให้ทันโลก) โดยการ Upskill/Reskill บุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาของคณะฯ จึงได้กำหนด สมรรถนะที่มุ่งหวังของบุคลากร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Competency and Skill) ขึ้น โดยประกอบไปด้วย สมรรถนะทั้งหมด 6 ด้าน





  • Core Competency

    สมรรถนะหลัก

    หมายถึงคุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ที่กําหนดเป็นคุณลักษณะร่วมของบุคลากรทั้งระบบ เพื่อเป็นการหล่อหลอมค่านิยม และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ร่วมกัน โดยสมรรถนะหลักประกอบด้วยสมรรถนะหลัก และค่านิยมองค์กร CQIT ที่บุคลากรทุกคนในคณะแพทยศาสตร์พึงมี แบ่งออกเป็น 5 สมรรถนะ ได้แก่

    สมรรถนะที่ 1 ใส่ใจผู้รับบริการ (Customer focus) หมายถึงความตั้งใจและพยายามในการให้บริการแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่มาติดต่อ
    สมรรถนะที่ 2 การปรับปรุงคุณภาพ (Quality improvement) หมายถึงการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานให้สูงขึ้น
    สมรรถนะที่ 3 การยึดมั่นในความถูกต้อง ชอบธรรม และจริยธรรม (Integrity) หมายถึงการดำรงตนและประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมทั้งตามกฎหมาย คุณธรรมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและจรรยาบรรณบุคลากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    สมรรถนะที่ 4 การมุ่งผลสัมฤทธิ์และความเชี่ยวชาญในงาน (Achievement & Expertise) หมายถึงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการให้ดีหรือให้เกินมาตรฐานที่มีอยู่ การสร้างพัฒนาผลงานหรือกระบวนการปฏิบัติงานตามเป้าหมายที่ยากและท้าทาย ชนิดที่อาจไม่เคยมีผู้ใดสามารถกระทำให้มาก่อน
    สมรรถนะที่ 5 การทำงานเป็นทีม (Teamwork) หมายถึงความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน หน่วยงานหรือสถาบัน รวมทั้งความสามารถ ในการสร้างและรักษาความสัมพันธภาพกับสมาชิกในทีม




    Managerial Competency

    สมรรถนะด้านการบริหาร

    หมายถึงคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่กำหนดเป็นคุณลักษณะร่วมของตําแหน่งประเภทอํานวยการและประเภทบริหาร เพื่อสร้างความเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบด้วย 6 สมรรถนะที่บุคลากรที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารพึงมี ได้แก่

    สมรรถนะที่ 1 สภาวะผู้นำ (Leadership) หมายถึงความสามารถหรือความตั้งใจที่จะรับบทผู้นำของกลุ่ม กำหนดทิศทางเป้าหมาย วิธีการทำงานได้อย่างราบรื่นเต็มประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร
    สมรรถนะที่ 2 วิสัยทัศน์ (Visioning) หมายถึงความสามารถในการกำหนดทิศทาง ภารกิจ และเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน และความสามารถในการสร้างความร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้ภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์
    สมรรถนะที่ 3 การวางกลยุทธ์ (Strategic Orientation) หมายถึงความเข้าใจในวิสัยทัศน์ และนโยบายของคณะฯ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ของหน่วยงานได้
    สมรรถนะที่ 4 ศักยภาพเพื่อนำการปรับเปลี่ยน (Change Leadership) หมายถึง ความสามารถในการกระตุ้น หรือผลักดันหน่วยงานไปสู่การปรับเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์ รวมถึงการสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ เข้าใจ และดำเนินการให้การปรับเปลี่ยนนั้นเกิดขึ้นจริง
    สมรรถนะที่ 5 การควบคุมตนเอง (Self Control) หมายถึงความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมในสถานการณ์ที่อาจจะถูกยั่วยุ หรือเผชิญหน้าความไม่เป็นมิตร หรือต้องทำงานภายใต้สภาวะกดดัน รวมถึงความอดทนอดกลั้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ก่อความเครียดอย่างต่อเนื่อง
    สมรรถนะที่ 6 การสอนงานและการมอบหมายงาน (Coaching and Empowering Others) หมายถึงความตั้งใจที่จะส่งเสริมการเรียนรู้หรือการพัฒนาผู้อื่นในระยะยาว จนถึงระดับที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผู้นั้น มีอิสระที่จะตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้




    Language and Communication Skills

    สมรรถนะด้านภาษาและการสื่อสาร

    เพื่อให้เกิดการบริการที่เป็นเลิศ และการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ คณะฯ จึงส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและภาษาอังกฤษ เพื่อยกระดับการให้บริการ และ ทำให้การสื่อสารภายในทีม ร่วมถึงการประสานงานระหว่างทีมเป็นไปอย่างคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 4 ทักษะ ได้แก่

    ทักษะที่ 1 การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication skill) เป็นทักษะการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงการทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ภายใต้ข้อมูลเหล่านั้น ทั้งที่อยู่ในรูปแบบวัจนภาษา และอวัจนภาษา ทักษะการสื่อสารนี้เปรียบเหมือนตัวเชื่อมประสานความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่ม หรือหน่วยงาน ช่วยให้สามารถสื่อสารเข้าใจกัน และสื่อสารเรื่องที่มีข้อมูล แง่ลบหรือข้อความยากๆ ได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งหรือทำลายความเชื่อมั่นเชื่อใจระหว่างกัน
    ทักษะที่ 2 การเจรจาต่อรอง (Negotiation skill) หมายถึงการหาเหตุผลมาสนับสนุนและกำหนดทางเลือกในการต่อรองผลประโยชน์ เพื่อจูงใจให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความคิดเห็นคล้อยตามและเกิดการยอมรับกันทั้งสองฝ่าย
    ทักษะที่ 3 การบริหารความขัดแย้ง (Conflict management) เป็นกระบวนการแก้ไขข้อพิพาทที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพื่อลดผลลัพธ์เชิงลบที่อาจเกิดขึ้นและสร้างโอกาสสำหรับผลลัพธ์เชิงบวกมาแทนที่
    ทักษะที่ 4 ความสามารถในการมีอิทธิพลทางความคิด (Influencing and leading to goals) เป็นสมรรถนะที่อธิบายถึงความสามารถในการสื่อสารเพื่อจูงใจและมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น อันจะเป็นการนำพาสู่เป้าหมายทางการสื่อสารที่ต้องการผ่านการใช้ทักษะการจูงใจ เพื่อเปลี่ยนจากคนที่ไม่รู้จัก มาเป็นคนรู้จักช่วยเหลือ หรือขับเคลื่อนเป้าหมายขององค์กร และใช้ทักษะการสื่อสารแบบมีเป้าหมาย เพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนสามารถประเมินและส่งเสริมการทำงานของทีม เพื่อตอบสนองความสำเร็จตามเป้าหมายของงานองค์กร ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
    ทักษะที่ 5 การทำงานร่วมกัน (Collaboration) หมายถึงการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจ คือการทำงานร่วมกัน แบบประสานการทำงานให้สอดคล้องกันทั้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มทีมงาน เพื่อให้เป้าหมายหลักร่วมกันขององค์กรเสร็จสมบูรณ์




    Powered Skills

    ทักษะเพื่อการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กร

    เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้บุคลากร มี Soft Skills ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อกลยุทธ์ MED CMU ของคณะฯ ประกอบด้วย 5 ทักษะ ได้แก่

    ทักษะที่ 1 Non-Technical Skills Skills เป็นทักษะที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดจากการทำงานด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการจัดการภายในทีม
    ทักษะที่ 2 การคิดเชิงวิพากษ์ & การวิเคราะห์ (Critical thinking & Analysis) หรือทักษะการคิดอย่างมีหลักการณ์ คือการคิดและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและมีเหตุผล เป็นความสามารถในการใช้ตรรกะและความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประเมินทางเลือก การคิดรอบด้านเพื่อหาข้อสรุปเพื่อและการตัดสินใจแก้ปัญหานั้น
    ทักษะที่ 3 ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Behavioral Flexibility & Adaptability) เป็นความสามารถในการทำงานกับผู้อื่นที่มีความหลากหลาย โดยเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง ข้อตกลงและความสนใจของกลุ่มคนทำงานที่แตกต่างกันได้ รวมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็วของวิทยาการใหม่และสามารถนำสิ่งใหม่ มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองเป้าหมายขององค์กรและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้
    ทักษะที่ 4 ความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มสิ่งใหม่ (Creativity, originality & initiative) ความสามารถในการคิดไอเดียที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร และใช้งานได้จริง สามารถตอบโจทย์ของงานได้
    ทักษะที่ 5 การบริหารคุณภาพ (Quality Management) หมายถึงการจัดการระบบคุณภาพโดยทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร รับผิดชอบต่องานที่ตนเองกระทำอย่างเต็มที่เพื่อให้สินค้าและบริการเป็นไปตามต้องการของลูกค้า เช่น การใช้ระบบการบริหารคุณภาพสมบูรณ์แบบ (Total Quality Management หรือ TQM)




    Digital Transformations and Innovation

    สมรรถนะด้านดิจิทัลและนวัตกรรม

    เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาให้องค์กร บุคลากรจำเป็นต้องมีทักษะทางการคิดและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่อยู่เสมอ ต้องมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงาน รวมถึงเรียนรู้ระบบสารสนเทศ ระบบการให้บริการของคณะฯ และโรงพยาบาล เพื่อให้การบริการและการทำงานมีความคล่องตัว และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก ซึงประกอบด้วย 4 ทักษะ ได้แก่

    ทักษะที่ 1 ความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) เป็นสมรรถนะที่อธิบายถึงความสามารถในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ชอฟต์แวร์ เพื่อสร้าง ประเมิน และแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด
    ทักษะที่ 2 การรู้สารสนเทศ (Information literacy) เป็นความรู้ความสามารถและทักษะของบุคคลในการเข้าถึงสารสนเทศ ประเมินสารสนเทศที่ค้นมาได้ และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพทุกรูปแบบ ผู้รู้สารสนเทศจะต้องมีทักษะในด้านต่างๆ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์และ / หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการใช้ภาษา ทักษะการใช้ห้องสมุด ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
    ทักษะที่ 3 ทักษะการใช้ ดูแล และจัดการเทคโนโลยี (Technology use, Monitoring & Control) เป็นความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ทั้งในแง่ของการควบคุมและตรวจสอบติดตามผล
    ทักษะที่ 4 การคิดเชิงวิเคราะห์และนวัตกรรม (Analytical Thinking & Innovation) หมายถึงการแก้ปัญหาโดยใช้ตรรกะในการคิดวิเคราะห์ และความคิดเชิงนวัตกรรม




    Functional Competency

    สมรรถนะเฉพาะตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ

    คณะแพทยศาสตร์ประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีวิชาชีพที่หลากหลาย คณะฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะฉะเพาะด้านที่เหมาะสมกับสายงาน และตอบสนองต่อกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งสมรรถนะออกเป็น 2 ส่วนได้แก่

    ส่วนที่ 1 ทักษะการช่วยชีวิต (Life support (CPR)) บุคลากรคณะแพทยศาสตร์ทุกคน ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการช่วยชีวิต
    สมรรถนะตามสายงาน (Professional Competency) หมายถึงความสามารถในการกำหนดทิศทาง ภารกิจ และเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน และความสามารถในการสร้างความร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้ภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์
    โดยแบ่งประเภทของบุคลากรออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งมีสมรรถนะแตกต่างกันไป เฉพาะตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ ได้แก่
    1. บุคลากรกลุ่มวิชาการ เช่น ศ.เงินเดือนขั้นสูง, ศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, อาจารย์ เป็นต้น มีสมรรถนะที่สำคัญคือ แพทยศาสตร์ศึกษา (MeDED skill)
    2. บุคลากรกลุ่มนักวิจัย/ผู้ช่วยนักวิจัย มีสมรรถนะที่สำคัญคือ ทักษะด้านการวิจัย(Research skill)\
    3. บุคลากรกลุ่มพยาบาล สมรรถนะเฉพาะตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ เป็นไปตามที่ฝ่ายการพยาบาลกำหนด
    4. บุคลากรสายสนับสนุน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
         4.1 กลุ่มสนับสนุนวิชาการ เช่น นักวิชาการการศึกษา,งานบริการการศึกษา ,งาน ประกันคุณภาพการศึกษา ,บุคลากรประจำภาควิชา เป็นต้น
         4.2 กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ คือกลุ่มบุคลากรที่มีใบประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, นักเทคนิคการแพทย์, นักรังสีการแพทย์ นักกายภาพบำบัด เป็นต้น
         4.3 กลุ่มบุคลากรสายสนับสนุนทั่วไป เช่น เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป, นักจัดการ งานทั่วไป, ช่างฝีมือ, ผู้ปฏิบัติงานเภสัชกรรม เป็นต้น

    ทั้งนี้สามารถเพิ่มเติมสมรรถนะเฉพาะตามลักษณะงานที่ปฏิบัติได้ตามสายงาน

















    โดยบุคลากรสามารถค้นหาข้อมูล และตัวอย่างหลักสูตร ได้ที่ MeDHRI Catalogue โดยจะมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อขับเคลื่อน และพัฒนาบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง